ล่าสุด

ประวัติความเป็นมาของ Superbike มอเตอร์ไซค์คันใหญ่

บทความนี้จะเป็นกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของ Superbike กันโดยจะกล่าวถึง Superbike ของ Honda CB750 เมื่อปี 1969 (2512) จนถึงปี 2001 (2544) กับคันที่เป็นที่กล่าวขานอย่าง Suzuki GSX-R1000

ท่านเคยได้ยินคำเหล่านี้ใช่ไหมครับ Superbike supersport superpole superstock superteen super blackbird super dream super …. ครับดูเหมือนคำว่า super นั้นถูกใช้ไปในหลายๆโอกาส เพื่อบ่งบอกถึงความเหนือธรรมดา เช่นเดียวกันกับวงการมอเตอร์ไซค์ ที่คำว่า super ก็ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายเช่นกัน

มอเตอร์ไซค์ superbike มีมานานแล้วใช่หรือไม่

ไม่ว่าไปอ่านเว็บหรือหนังสือเล่มไหนเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ เราจะพบคำว่า superbike อยู่บ่อยๆ เลยอาจจะทำให้คิดว่าคำนี้มีมานานแล้ว รวมไปถึงคิดว่ามอเตอร์ไซค์แบบนี้มีมานานแล้วด้วย ทั้งนี้เพราะคำนี้ได้รับการใช้งานกันอย่างแพร่หลายมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วมอเตอร์ไซค์แบบ superbike นั้นได้ก่อกำเนิดมาแค่ราวๆ 3 ทศวรรษแค่นั้นเอง ไม่น่าเชื่อนะครับ ยิ่งในเมืองไทย เราก็คงได้พบเห็นมอเตอร์ไซค์แบบนี้ได้น้อยกว่าเสียอีก เพราะคันแรกๆคงมีคนนำเข้าหลังจากมีการวางตลาดในต่างประเทศไปแล้วหลายเดือน อีกทั้งฐานการผลิตมอเตอร์ไซค์ไม่ได้แห่กันมาแถวบ้านเราเหมือนช่วงไม่กี่ปีมานี้

ในยุคปี 1960 หรือราวปี 2500 โน้น การแข่งขันระดับกรังปรีซ์ก็จะเป็นเครื่องที่อยู่ในช่วง 500 cc มาเป็นระยะเวลาหนึ่งจนกระทั่งถึงต้นทศวรรษ 1970 ที่ ทางอเมริกาได้เริ่มนำรถขนาด 750 cc สองจังหวะออกมาแข่งกัน ซึ่งถือเป็นการแข่งขันรถ superbike กันจนมาถึงการแข่งขันชิงแชมพ์โลกของการแข่งขัน Superbike ในปัจจุบัน

แต่การใช้คำว่า Superbike ครั้งแรกนั้นแทบไม่ได้เกี่ยวข้องกับการแข่งขันเลย แต่คำนี้ถูกสื่อระดับโลกนำไปใช้เพื่ออธิบายการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการมอเตอร์ไซค์ที่ทาง ฮอนด้าได้ออกมาเปิดตัวในช่วงไกล้สิ้นทศวรรษ 1960

ช่วงนั้นทีมนักร้องดังอย่าง The Beatles ก็ยังอยู่ครบเป็นทีม ส่วน Elvis ก็ยังไม่อ้วนเผละ ทศวรรษใหม่กำลังใกล้เข้ามา ใช่แล้วครับตอนนี้คือปี 1968 (2511) ในแง่ของวงการมอเตอร์ไซค์แล้วมันคือปีที่สำคัญปีหนึ่ง เพราะเป็นปีที่ถือว่าเป็นจุดกำเนิดของคำว่า Superbike

คำๆ นี้ได้ถูกนำมาใช้ในหลายแง่มุมเกี่ยวกับมอเตอร์ไซค์ จากที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นจนไปถึงการอธิบายให้คุณยายฟังว่ารถมอเตอร์ไซค์มันใหญ่แบบซุปเปอร์จริงๆ ในเมื่อคำนี้หาความหมายในดิกชันนารี่ไม่เจอ เรามานิยามกันนะครับว่าคำนี้หมายความว่าอย่างไร

superbike n. a standard production motorcycle with a designated engine capacity of 750cc or above and which offers ground-breaking sports performance


หรือแปลสั้นๆว่า เป็นมอเตอร์ไซค์ที่ผลิตขึ้นมาแบบทั่วไป (ไม่ได้ผลิตเป็นต้นแบบหรือเฉพาะอย่าง – custom built) โดยมีขนาดเครื่องยนต์ที่ 750cc หรือใหญ่กว่า และให้สมรรถนะการขับขี่ที่สุดยอด

จากคำนิยามของคำว่าซุปเปอร์ไบค์ ข้างต้นก็ไม่ต้องแปลกใจนะครับว่าทำไมบทความนี้ไม่กล่าวถึงมอเตอร์ไซค์อย่าง Yamaha RD500 หรือ Kawasaki H1s นะครับ
HondaCB750

1968 (2511) : Honda CB750

เดือนตุลาคม 1968 มีการจัดงาน Tokyo bike show ที่ประเทศญี่ปุ่น สำหรับนักข่าวที่ดั้นด้นเดินทางไปชมงานนี้ในสมัยนั้นก็ต้องพบกับความประหลาดใจ มันคือ Honda CB750 และถือเป็นรถมอเตอร์ไซค์ที่พลิกโฉมการขับขี่รถมอเตอร์ไซค์อย่างสิ้นเชิง

ก่อนหน้านั้นมีข่าวลือออกมานานหลายปีว่าจะมีบริษัทญี่ปุ่น วางตลาดรถมอไซค์ขนาด 4 สูบ แต่คนส่วนใหญ่ต่างก็ส่ายหัวกับข่าวนี้เพราะต่างก็จินตนาการกันว่า ระบบคงซับซ้อนมาก และมอเตอร์ไซค์คันแบบนั้นคงต้องหนักเกินไปที่จะมาขับขี่บนท้องถนนได้ คำสบประมาทนั้นล้มไม่เป็นท่าเมื่อฮอนด้าทำให้บรรดาสื่อต่างๆ ต้องตกตะลึง (รวมถึงค่าย Kawasaki ซึ่งก็พยายามพัฒนาเครื่อง4 สูบอยู่เช่นกัน) โดยการเปิดตัว CB750 ออกมา ทำให้บรรดาผู้ที่เยาะเย้ยว่าไม่มีทางทำออกมาได้ ต่างต้องปิดปากสนิทเลยทีเดียว

เจ้า CB750 ในต้องนั้นมีสเป็คที่น่าประทับใจมาก เป็นรถมอเตอร์ไซค์จากสายการผลิตคันแรกที่มีดิสเบรกล้อหน้าแบบไฮดรอลิค เครื่องยนต์สี่สูบเรียงแถว สี่คาบูร์ ทอไอเสียโครเมีียมแบบสี่ท่อ เกียร์ขนาด 5 สปีด สตาร์ทด้วยไฟฟ้า ตอนนั้นถือว่าไฮเทคมากๆ

เครื่องยนต์ขนาด 736.5 cc แบบ signle overhead cam ให้กำลังม้าถึง 67 bhp ที่ความเร็วรอบ 8000 รอบต่อนาที ซึ่งถือว่าดีทีเดียวตอนนั้นสำหรับความเร็วสูงสุดที่ 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วขนาดดนี้อาจจะไม่น่าตื่นเต้นเท่าไหร่ตอนนี้ แต่อย่าลืมนะครับว่านั่นมันคือ 40 กว่าปีที่แล้วนะครับ และถือว่าดีเยี่ยมแล้วในยุคนั้น และนับได้ว่าเป็นความเร็วมาตรฐานสำหรับใครก็ตามที่จะผลิตมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่ในหลายสิบปีต่อมา

การเปิดตัวของ CB750 ของญี่ปุ่น ถือเป็นการตอกฝาโลงให้กับอุตสหกรรมมอเตอร์ไซค์ของอังกฤษได้ในทันที มอเตอร์ไซค์ญี่ปุ่นคันนี้น่าประทับใจมากถึงขนาดว่าสื่อต้องหาคำใหม่มาอธิบายให้เกิดความต่าง และนั่นคือที่มาของคำว่า superbike

มอเตอร์ไซค์คันนี้ได้ออกวางตลาดในปี 1969 ซึงเป็นปีเดียวกับที่มนุษย์เหยียบดวงจันทร์ แต่สำหรับนักบิดแล้วข่าวมนุษย์เหยียบดวงจันทร์ถือเป็นข่าวรอง สิ่งที่พวกเขาต้องการรู้กลับเป็นเรื่องเกี่ยวกับเจ้า CB มากกว่า การประชาสัมพันธ์ก็ได้รับแรงเสริมจากการแข่งขันชนะที่ Daytona ด้วย CB750 ของนักบิดชาวอเมริกันชื่อ Dick Mann ที่ลงแข่งครั้งแรกก็ชนะเลย

ในช่วง 3 ปีแรกยอดขายในอเมริกาทำได้ถึง 61,000 คัน และในช่วง 10 ปีสามารถทำยอดขายได้รวมกว่า 400,000 คัน โดยในปี 1973 ทำยอดขายสูงสุดได้ในปีเดียวถึง 60,000 คันเลยทีเดียว ที่ราคา 679 ปอนด์ หรืออัตราแลกเปลี่ยนตอนนี้ก็ 32,000 บาท ถือว่าเป็นราคาที่คุ้มค่า แต่ราคาในตอนนั้นก็เท่าๆ กับรถยนต์อย่าง Volkswagen Beetle ในตอนนั้น

สำหรับข้อติติงที่มีต่อ Honda ก็คงมีเพียงอย่างเดียวคือเรื่องน้ำหนักรถที่ 220 กิโลกรัม ซึ่งถือว่าหนักไปนิดเมื่อเทียบกับความคุ้นเคยของการขับขี่มอเตอร์ไซค์ที่ผ่านมา แต่นำหนักขนาดนี้ก็ไม่ได้ทำให้นักบิดเปลี่ยนใจแต่อย่างใด เมื่อเทียบกับว่าเป็นรถมอเตอร์ไซค์ของฮอนด้าที่มีประวัติการผลิตออกขายยาวนานเป็นสิบปี ถือเป็นรถที่วางจำหน่ายยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของฮอนด้าเลยทีเดียว หลังจากมาตรฐานของคำว่า superbike ได้ถูกตั้งขึ้นมาแล้ว การแข่งขันก็คือต้องทำให้ดีกว่าฮอนด้า

ค่าย Kawasaki ซึ่งได้ซุ่มพัฒนามอเตอร์ไซค์แบบ Superbike มาระยะเวลาหนึ่งแล้วเมื่อตอนฮอนด้าเปิดตัว CB750 จนกระทั่งปี 1973 ที่รุ่น Z1 ได้ออกมาเปิดตัวพร้อมกับสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับคำว่า Superbike อีกรอบ

kawasakiZ1

1973: Kawasaki Z1

ในตอนนั้น Kawasaki เองก็ประหลาดใจพร้อมๆกับไม่สบอารมณ์กับการที่ฮอนด้าเปิดตัว CB750 มากนัก เมื่อไม่อยากให้ถูกแซงตัดหน้า ทางทีมออกแบบก็หันกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง พร้อมกับการกลับมาของเครื่องยนค์ขนาด 900cc เพื่อที่จะได้ชื่อว่าใหญ่กว่าดีกว่าคู่แข่งอย่าง CB และก่อนการออกแบบมีการสำทับกันอย่างหนักแน่นว่าห้ามมีข้อบกพร่องใดๆ

Z1 ก็เลยเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ถือว่าเหนือกว่า CB ของ ฮอนด้าอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากแรงม้าที่มากกว่า ความเร็วสูงสุดก็ดีกว่า แต่ก็ใช่ว่าจะปราศจากข้อเสียซะเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบเบรกและการควบคุมการขับขี่ และอีกอย่างคือไม่ได้รู้สึกฮือฮาในแง่ของความไฮเทคใหม่ๆเหมือนตอนฮอนด้าเปิดตัวก่อนหน้าหนี้

ทางคาวาซากิได้ลอกเลียนระบบจานเบรกเดี่ยวมาจาก CB แต่ด้วยแรงม้าขนาด 82 bhp ที่ 8,500 รอบและความเร็วสูงสุดประมาณ 210 กม ต่อชั่วโมง เหมือนจะทำให้ระบบเบรกที่ออกมานั้นเอาไม่ค่อยอยุ่ และ Z1 นัั้นหนักกว่า Honda เล็กน้อย ที่ 229.5 กิโลกรัม และจากรูปแบบของเฟรมนั้นทำให้เครื่องยนต์ของคาวานั้นมีความแรงเกินกว่าที่เฟรมรถจะรองรับไหว

อย่างไรก็ตาม Z1 ถือเป็น superbike คันใหม่ เครื่องแบบ DOHC สี่สูบขนาด 903cc พร้อมกับสถิติใหม่ของการแข่งขันที่ Daytona ในเดือนมีนาคม 1973 ทั้งนี้เพราะในยุคนั้นไม่มีมอเตอร์ไซค์คันไหนที่จะมีพลังมากกว่านี้อีกแล้ว

ราคาในตอนนั้นอยู่ที่ 1088 ปอนด์หรือราวๆ 50,000 บาท มาพร้อมกับเกียร์ 5 เกียร์ สตาร์ทด้วยไฟฟ้า ดิสค์เบรกและท่อสี่ท่อ ที่โดยรวมดูคล้ายๆกันมากกับฮอนด้า

Z1 ออกวางขายอยู่ประมาณ 4 ปีในรูปแบบดั้งเดิมที่ได้ออกแบบมา แต่รุ่นปรับปรุงของ Z1 นั้นยังมีบางลักษณะให้พบเห็นอยู่ในรุ่น Z ของ Kawasaki ในปัจจุบัน การเปิดตัวของ Kawasaki ทำให้เป็นการตอกฝาโลงของการทำเครื่องเดียวสูบใหญ่ไปเลยทีเดียว ต้องขอบคุณทั้ง CB และ Z1 ที่ทำให้โลกหันไปคลั่งไคล้เครื่องสี่สูบตลอดมา

SuzukiGS1000

1977: Suzuki GS1000

เป็นปีที่ Superstar อย่าง Elvis Presley เสียชีวิตพอดีเขาเลยไม่มีโอกาสได้ลองขับ GS1000 ของ Suzuki แม้ว่ารถมอเตอร์ไซค์คันนี้ได้เริ่มมีการกล่าวถึงกันในสื่อเมื่อปี 1976 แต่กว่าจะวางตลาดก็ย่างเข้าปี 1977 แล้ว
ปีที่ Suzuki วางตลาด GS1000 นั้นเป็นปีที่นักบิดอย่าง Barry Sheene ได้รับชัยชนะสองปีซ้อนกับรถขนาด 500 cc ของซูซูกิพอดี ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันอยู่ในทีระหว่างเครื่อง 500cc สองจังหวะรถแข่ง กับ GS1000 สี่จังหวะสี่สูบคือ ก้านล้อหน้าที่เป็นแบบ internal และที่สำคัญคือปรับระดับได้

GS ถือเป็นมอเตอร์ไซค์จากสายการผลิตคันแรกๆ ที่มีก้านล้อหน้าแบบปรับได้ ทั้งนี้ Suzuki ใช้เวลาถึ 8 ปีในการพัฒนารถมอเตอร์ไซค์ขนาดใหญ่สี่จังหวะ แต่เมื่อ Suzuki ทำมันออกมาได้แล้วทำให้การแข่งขันเป็นเจ้าแห่ง Superbike ก็เริ่มต้นนับใหม่อีกครั้ง

GS ให้กำลังขับ 87 แรงม้าที่ 8000 รอบต่อนาที ทำความเร็วได้สูงสุดถึง 216 กม/ชม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คงเป็นเรื่องของการขับขี่ GS น่าจะเป็นรถ superbike ญี่ปุ่นที่ขับสบายที่สุดในยุคนั้น อาจจะมองดูว่าไม่เห็นจะเข้าสบายตรงไหนในปัจจุบัน แต่อย่าลืมว่าตอนนั้นคือ 30 กว่าปีมาแล้วนะครับ

การออกแบบเน้นความอึดทนทานของมอเตอร์ไซค์ ทำให้น้ำหนักของชิ้นส่วนต่างๆที่ต้องการความคงทนนั้นไปเพิ่มน้ำหนักทั้งหมดของมอเตอร์ไซค์เป็น 227 กิโลกรัม ราคาในขณะนั้นก็ 1725 ปอนด์หรือราว 81,000 บาทซึ่งถือว่าไม่แพงมากในตอนนั้น

นอกจากรุ่น 1000cc แล้วในสายการผลิตกลุ่ม GS ยังมีรุ่นอื่นๆเช่น GS400 GS550 GS750 และอื่นๆ (รวมทั้ง ST,SZ,EN และ SN เวอร์ชั่นด้วย) โดยตัวสุดท้ายของสายพันธ์ตรงคือ GS850 ในรุ่นปี 1985
ผลจากการที่ suzuki สร้างมอเตอร์ไซค์ที่ทนบึกบึน ดูดี ในสนามแข่งก็ไม่เป็นรองใคร ทำให้มีสาวกซูซิกิจำนวนมากอยู่จนถึงทุกวันนี้

kawasakiGPz900R

1984: Kawasaki GPz900R

Kawasaki วางตลาดรถรุ่นนี้ในปี 1984 (2527) โดยนโยบายของ คาวาคือต้องการสร้างรถขนาด 1000cc แต่ให้ความรู้สึกเบาเหมือนเครื่อง 750cc มอเตอร์ไซค์คันนี้ใช้เวลาในการพัฒนาถึง 6 ปีด้วยกัน แต่กลับประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีในวันที่ออกวางตลาด เครื่องยนต์แบบ DOHC ขนาด 908cc 16 วาล์ว สี่สูบเรียงแถว ให้กำลัง 115 bhp ที่ 8500 รอบต่อนาที ให้ความเร็วสูงสุดที่ 250 กม/ชม จึงถือเป็นรถที่มีความเร็วสูงสุดในตอนนั้น สำหรับเครื่องยนต์ก็มีขนาดเล็กกระทัดรัดเนื่องจากเป็นระบบระบายความร้อนด้วยของเหลว ทำให้สามารถวางเครื่องยนต์ให้ต่ำลงได้เพื่อลดจุดศูนย์ถ่วง ทำให้สามารถขับขี่ได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น

ในส่วนของก้านล้อหน้าก็เป็นแบบปรับระดับได้ มีระบบป้องกัน Anti-dive กันสะเทือนหลังที่นุ่มนวลทำให้ช่วยในการขับขี่อีกทาง

เพราะนำหนักรถจะอยู่ที่ 228 กิโลกรัม GPz ก็ไม่ใช่ว่าจะน้ำหนักเบาซะทีเดียว แต่ผลการวิ่งควอเตอร์ไมล์นั้นได้ตัวเลขในระดับ 11 วินาที ซึ่งถือว่าใช้ได้เลยทีเดียว ด้วยตำแหน่งขับขี่แบบสปอร์ตทำให้รู้สึกได้ถึงกำลังของเครื่องยนต์ที่อึดและทน เร่งได้ดังใจ

ผลการแข่งขันแทบทุกสนามในช่วงนั้นถูกครองโดย GPz900 ถ้วนหน้า ถือเป็นตัวพิสูจน์ได้ถึงสมรรถนะเครื่องยนต์ของคาวาซากิได้เป็นอย่างดี

แต่ใช่ว่าคาวาซากิจะไม่ประสบปัญหาใดๆ กับรถคันนี้ ในช่วงต้นจะมีปัญหาเนื่องจากอัตราการไหลของน้ำมันส่งผลต่อ Camshaft แต่ก็ได้รับการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว รถคันนี้ของคาวาซากิถูกวางขายเป็นสิบปีเลยทีเดียว แม้ว่าช่วงหลังจะมีการทำการตลาดใหม่ในลักษณะของรถแบบ sport tourer

suzukiGSXR750

1985: Suzuki GSX-R750

ซูซูกิได้เปิดตัวมอเตอร์ไซค์ตามแนวคิดใหม่ที่ว่า เกิดมาจากสนามแข่งก็ต้องผลิตมาเพื่อไปลงสนามแข่ง ซึ่งอาจจะเป็นตรรกะที่ดูงงๆ แต่ความหมายของ suzuki ตอนนั้นก็คือ มอเตอร์ไซค์ได้รับแรงบัลดาลใจจากรถแข่งดังนั้นหากผลิตออกมาวางขายแล้วละก็คงต้องเป็นรถไว้สำหรับแข่ง

รถคันนี้เปิดตัวในปี 1984 และวางตลาดในปี 1985 แม้ว่าจะวางคอนเซ็ปของความเป็นรถมอไซค์บนพื้นฐานของรถแข่งก็ตาม แต่สิ่งที่ทำให้นักบิดทั้งหลายชอบก็คือความสามารถในการขับขี่ แม้ว่าแรงม้าจะน้อยกว่า Yamaha FZ750 เจ้าตลาดในตอนนั้นอยู่ 5 แรงม้าก็ตาม ทั้งนี้เพราะก่อนหน้าที่ GSX จะออกวางตลาด รถที่วิ่งเร็วนั้นมีให้เลือกมากมาย แต่เวลาเข้าโค้งเป็นเรื่องที่ไม่มีรถคันไหนทำได้ดีมาก่อน

น้ำหนักของ GSX-R เพียง 176 กิโลกรัม ที่ 100 แรงม้า เฟรมทำจากอลูมิเนียมอัลลอย ระบบป้อง anti-dive เครื่องสี่สูบสี่จังหวะ DOHC ขนาด 749cc ทั้งนี้เฉพาะเฟรมอย่างเดียวนั้นเบากว่า Suzuki GS750 ที่เป็นเฟรมเหล็กถึง 9 กิโลกรัม ทางบริษัทโม้ว่าในเวลานั้น GSX-R เป็นมอเตอร์ไซค์จากสายการผลิตคันแรกที่ใช้เฟรมแบบอัลลอย คิดว่าฝ่ายการตลาดคงลืมไปนิดว่าบริษัทเยอรมันชื่อ Ardie เคยขายเฟรมอัลลอยมาตั้งแต่ปี 1930 โน่น

จุดเด่นของ GSX-R น่าจะอยู่ที่ระบบระบายความร้อนด้วยน้ำมันพร้อมๆกับด้วยอากาศ ทั้งนี้เพื่อลดน้ำหนักของรถ แทนที่จะแบกระบบระบายความร้อนด้วยของเหลวไปด้วย ก็เลยใช้ระบบน้ำมันนั่นแหละระบายความร้อน ระบบนี้ถือเป็นระบบที่โด่งดังของซูซูกิที่ให้ชื่อเรียกว่า SACS (Suzuki Advanced Cooling System)

หลายๆส่วนนั้นเป็นการลอกเลียนจากรถแบบวิบาก เช่นล้อหน้าที่ใหญ่ขี้นเพื่อให้ง่ายในการถอด caliper ไปจนถึงการถอดล้อ รวมไปถึงไฟหน้าคู่ซึ่งในสมัยนั้นถือว่าเป็นของใหม่ ก็ถอดแบบมาจากรถวิบากเช่นกัน แรงม้าของรถอยู่ี่ 106bhp ที่ 10,500 รอบต่อนาที ซึ่งก็แรงพอที่จะทำความเร็วได้ถึง 230 กม/ชม

รถซูซูกิ คันนี้มองดูเหมือนรถแข่งและให้ความรู้สึกเป็นรถแข่ง การวางตำแหน่งในการขับนั้นมีความจำเพาะเจาะจง เพราะเมื่อบิดเครื่องจนได้รอบแตะหมื่น นักบิดก็จะรู้ตัวดีว่าต้องขับท่าไหน

ว่าด้วยเรื่องน้ำหนักแล้วรถคันนี้เบากว่า FZ750 อยู่ 25 กก และเบากว่า Honda VF750F ถึง 50 กก เลยทีเดียว สำหรับราคาในปีนั้นอยู่ที่ 160,000 บาท และทำยอดขายได้ถึง 190,000 คันในหลากหลายรูปแบบจนถึงปัจจุบันกว่า 2000 รุ่น

บรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่าการเปิดตัวของซูซูกินั้นมีผลกระทบต่อวงการมอเตอร์ไซค์เทียบได้กับการเปิดตัวของ Honda CB750 เมื่อ 16 ปีก่อนเลยทีเดียว แถมยังชนะการแข่งขันชิงแชมป์โลกจนถึงทุกวันนี้

HondaRC30

1988 : Honda RC30

ฮอนด้าต้องการส่งรถเข้าแข่งในรายการ World Superbike racing ทำให้ต้องผลิตมอเตอร์ไซค์แบบ road bike คันนี้ขึ้นมา RC30 หรือ VFR750R ได้รับการยอมรับว่าเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ยอดเยี่ยมอีกคันหนึ่ง เพราะฮอนด้าอยากลงแข่ง WSB เลยออกแบบมอเตอร์ไซค์มาตามแบบที่ตัวเองต้องการ เพิ่มอุปกรณ์อีกเล็กน้อยเพื่อให้วิ่งบนท้องถนนทั่วไปได้แล้วก็วางตลาด ก็ต้องขอบคุณฮอนด้าที่สร้างเจ้านี่ขึ้นมา

มาถึงช่วงกลางทศวรรษ 1980 ฮอนดาก็ได้ลองรูปแบบเครื่องยนต์ต่างๆ มากมายและจบลงที่เครื่องแบบ V-four เพราะว่าทำให้เครื่องยนต์มีขนาดเล็ก จุดศูนย์ถ่วงต่ำ และส่วนหน้าที่ไม่ต้องการพื้นที่เยอะ

แต่ละคันของ RC30 นั้นจะประกอบด้วยมือที่โรงงาน Hamamatsu เลยเหมือนว่ามอเตอร์ไซค์ทุกคันนั้นถูกผลิตให้แต่ละคนด้วยความปราณีต ข่าวว่าฮอนด้าตอนนั้นขอซื้อคืนมอเตอร์ไซค์คันแรกที่ส่งให้ลูกค้า Serial number 00001 แต่เจ้าของปฏิเสธอาจจะเพราะรวยแล้วหรือไม่ก็รอให้ราคาสูงกว่านี้

RC30 ถือเป็นรถจากสายการผลิตคันแรกที่ใช้ Titanium allow แต่ละชิ้นส่วนจะต้องมีน้ำหนักน้อยที่สุดแพงที่สุด เลยทำให้มอเตอร์ไซค์คันนี้หนักเพียง 185 กิโลกรัม แม้ว่า หกปีให้หลัง Ducati 916 อันโด่งดังก็ยังหนักกว่านี้

กำลังเครื่องยนต์อยู่ที่ 112bhp ที่ 11,000 รอบต่อนาที แต่สิ่งที่ดึงดูดใจผู้พบเห็นคือสภาพโดยรวมมากกว่าเสป็คเครื่องยนต์ เช่นแชซซีแบบก้มต่ำ ระยะระหว่างล้อที่สั้น ตำแหน่งการขับขี่แบบนักแข่ง และการขับขี่ที่เยี่ยมยอด เป็นผลให้นักบิดในช่วงนั้นต่างก็ได้ครองตำแหน่งแชมพ์กันถ้วนหน้า

จำนวนที่ผลิตออกมาทั้งหมดมีประมาณ 3000 คันซึ่งผลิตระหว่างปี 1988 ถึง 1990 ฮอนด้าได้แสดงถึงความสามารถในการผลิต superbike คันแรกในปี 1969 กับ CB750 มาถึงตัวนี้ก็ถือเป็นอีกก้าวกระโดดของวงการ superbike อีกครั้ง แต่ยังไม่จบแค่นั้นอีกไม่กี่ปีถัดมาก็มีตัวใหม่ออกมาให้ฮือฮากันอีก

อ่านภาคสองที่นี่นะครับ ประว้ติความเป็นมาของ superbike ภาค 2

ads2

Advertisment

26,832 views